Credit Scoreคืออะไร? สำคัญต่อการขอสินเชื่อSMEอย่างไร?

by SME Loan Expert


ในบทความนี้ขอแนะนำให้รู้จัก Credit Score ของนิติบุคคลในแง่มุมของการขอสินเชื่อSME แต่ก็มีเรื่องคาบเกี่ยวกับ Credit Score ของบุคคลธรรมดา(กรรมการ)เช่นกัน ผู้ที่เคยยื่นกู้ขอสินเชื่อSMEแล้วไม่ผ่านอาจจะไม่รู้ตัวว่าสาเหตุใดธนาคารถึงไม่อนุมัติวงเงินให้ ซึ่งหากพูดกันทางเทคนิคแล้วก็คือแบงค์ประเมินแล้วพบว่า Credit Score ของเราไม่ดีนั่นเอง

Credit Score คือ

Credit Score คืออะไร?

Credit Score คือคะแนนเครดิตของผู้ขอกู้หรือระดับความน่าเชื่อถือนั่นเอง Credit Score เป็นตัวชี้วัดที่ธนาคารใช้ประเมินและอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ หากCredit Score ดีได้คะแนนสูงๆแสดงว่าเป็นSMEที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้วงเงินดี ดอกเบี้ยถูก(ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี) หากCredit Scoreคะแนนต่ำๆแสดงว่าอาจจะกู้ไม่ผ่านหรือผ่านได้แบบวงเงินไม่มาก ดอกเบี้ยปกติหรือดอกเบี้ยแพง

Credit Score คำนวณจากอะไรบ้าง?

Credit Score ของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน มีสูตรการคำนวณที่คิดค้นขึ้นมาเองของแต่ละธนาคารตามแต่ปัจจัยความเสี่ยงที่แต่ละธนาคารจะรับได้โดยแบ่งเป็น 2 แบบ
1. Internal Score คำนวณจากข้อมูลที่ธนาคารมีอยู่เพราะเป็นลูกค้ากันอยู่แล้วหรือเป็นข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าของธุรกิจSME แล้วนำมาวิเคราะห์ เช่น

  • ประเภทของธุรกิจ
  • อายุของกิจการ
  • รายได้/ยอดขายของกิจการ
  • ภาระหนี้ปัจจุบัน
  • หลักทรัพย์ของกิจการ

  • เพิ่มเติมด้วยข้อมูลบุคคลธรรมดาหรือกรรมการ เช่น
  • รายได้ของกรรมการ สถานะสมสร จำนวนบุตร
  • รายได้รวมของครอบครัว (จากภรรยาหรือบุตรและเพื่อพิจารณาถึงผู้ไม่มีรายได้ในครอบครัวร่วมด้วย)
  • อาชีพ
  • นายจ้าง
  • อายุงาน
  • ภาระหนี้ส่วนบุคคล
  • หลักทรัพย์ของกรรมการ

  • โดยแต่ละเกณฑ์ก็จะมีน้ำหนักในการคำนวณไม่เท่ากัน คะแนนCredit Scoreส่วนนี้คำนวณเพื่อประเมินว่าSMEที่มาขอกู้มีศักยภาพ “สามารถจ่ายหนี้ได้” ตามวงเงินและลักษณะสินเชื่อที่ขอ
2. External Score เป็นข้อมูลที่ได้จากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(NCB) หรือเรียกง่ายๆว่าตรวจเครดิตบูโรนั่นเอง ธนาคารต้องการดูพฤติกรรมการบริหารจัดการเงินของSME ดูความ “เต็มใจจ่ายหนี้” จากประวัติย้อนหลัง เพราะมีSMEหลายรายที่แม้จะมีความสามารถที่จะจ่ายแต่เหนียวหนี้ไม่ค่อยเต็มใจอยากจะจ่าย Credit Scoreในส่วนนี้ควรจะอยู่ในระดับ AA หรือ BB (716คะแนนขึ้นไป) อ่านรายละเอียดค่าCredit Scoreเพิ่มเติมจากเว็บNCBคลิ๊ก

มาถึงจุดนี้แม้จะตอบได้ไม่ชัดเจนว่าแต่ละธนาคารพิจารณาสินเชื่อให้SME จากปัจจัยอะไรบ้างและให้น้ำหนักแต่ละปัจจัยเท่าไหร่ แต่ก็สามารถแนะนำได้ว่าทางไหนที่จะทำให้ธนาคารเห็นว่า ธุรกิจของเรามีปัญญาจ่ายและเต็มใจจ่าย จงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

เทคนิคเล็กน้อยในการสร้าง Credit Score สูงๆ

1. เป็นหนี้สักหน่อยให้เขารู้จักเรา วิธีการแสดงตนว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดีที่ดีที่สุดคือเป็นลูกหนี้ให้ดูนั่นเอง ก็คือต้องเป็นหนี้บ้างแต่ควรเป็นหนี้ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ สินเชื่อบุคคลไม่ควรนำไปใช้ในธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจมิใช่กู้ยืมเงินมาใช้เรื่องส่วนตัว ลูกหนี้ที่ดีคือ จ่ายเต็ม จ่ายตรง ต่อเนื่อง หากทำได้ 3 ข้อนี้สักช่วงเวลาหนึ่งก็เท่ากับว่าเราได้แสดงตนถึงความเป็นลูกหนี้ชั้นดีแล้ว
2. ถ้าไม่เคยเป็นหนี้หรือไม่อยากเป็นหนี้ อีกหนึ่งทางเลือกคือการเปิดบัญชีฝากประจำปลอดภาษีที่ต้องฝากเท่ากันทุกๆเดือนปกติบัญชีประเภทนี้จะเริ่มต้นที่ 24 เดือน หากคุณทำได้นอกจากมีเงินก้อน ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์นิดหน่อยแถมปลอดภาษี ข้อดีอีกข้อคือมันแสดงว่าคุณช่างมีวินัยเป็นเลิศ
3. มีบัตรเครดิตก็ดีนะ ไม่ว่าจะเป็นนามบริษัทหรือสินเชื่อส่วนบุคคลโดยเฉพาะผู้เป็นกรรมการแนะนำว่าควรใช้และจ่ายให้ตรงให้เห็นว่าเราใช้เครดิตและก็จ่ายครบจ่ายตรง ก็ยิ่งดูมีเครดิตเข้าไปอีก
4. ประวัติการชำระหนี้ย้อนหลัง 6 เดือนต้องสวยเป๊ะ ย้อนหลัง 3 ปีพยายามอย่าให้ด่างพล้อย ทุกๆหนี้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหรือกรรมการ (บางทีอาจจะรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวเลยด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบ้าน หรือวงเงินสินเชื่อSMEรูปแบบต่างๆ ทำไมต้อง3ปีด้วยเพราะทางNCBได้เก็บประวัติข้อมูลการชำระหนี้ของเราเพียง 36 ครั้ง(36 เดือน) ดั้งนั้นท่องให้ ขึ้นใจนะครับ ชำระหนี้ล่าช้าเพียงครั้งเดียวใช้เวลาเคลียร์ประวัตินานถึง 3 ปี
5. มี OD ใช้ให้เป็น สำหรับธุรกิจที่มีวงเงินODสำหรับหมุนเวียนระยะสั้นควรจะต้องใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์ ไม่ปล่อยให้นิ่งจนไม่ได้ใช้และอย่าใช้จนเต็มวงเงินตลอด ต้องใช้บ้างจ่ายคืนบ้างเกิดการหมุนเวียนมีการใช้เครดิตอย่างสมเหตุสมผล แบบนี้จะขอเครดิตเพิ่มก็คงเป็นเรื่องง่าย
6. ขอกู้เท่าที่จำเป็น การทำเรื่องขอกู้บ่อยๆไม่ว่าธนาคารจะอนุมัติหรือไม่ หากขอกู้ถี่เกินไปนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรากำลังมีปัญหาด้านการเงิน และธนาคารจะมองว่าลูกค้ารายนี้มีโอกาสจะเป็นหนี้เสีย

เชื่อเถอะ Credit Score สร้างได้ มาเริ่มวางแผนกันครับ

Sittichai SME Loan Expert